ความสำคัญของโครงการ หลักการและเหตุผล
“ต.หนองแสง อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม” เป็นตำบลที่มีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ยาวนาน มีวิถีชีวิต วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “การต้มเกลือแบบโบราณบ้านหนองเดิ่น การปั้นหม้อแบบโบราณโดยการเดินรอบเสาบ้านแดง และการผลิตข้าวฮางอินทรีย์บ้านปลาบู่” อย่างไรก็ตาม วิถีชีวิต วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นเหล่านี้กำลังจะสูญหายไป เนื่องจากไม่สามารถสร้างรายได้ให้เพียงพอต่อค่าครองชีพในปัจจุบัน คนรุ่นใหม่จึงไม่รู้สึกผูกพันและอยากสืบทอดต่อ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง นอกจากนี้ สินค้าจากภูมิปัญญาท้องถิ่นเหล่านี้แม้ว่าจะมีเอกลักษณ์และเรื่องเล่าที่มาที่ไปก็จริง แต่หากนำไปแข่งขันเพื่อขายในตลาดบนหรือโปรโมทสู่เส้นทางการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ก็ยังติดขัดในเรื่องของคุณภาพสินค้า ซึ่งยังจำเป็นต้องมีการพัฒนากระบวนการผลิตบางขั้นตอนให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพยิ่งขึ้น
“การต้มเกลือแบบโบราณบ้านหนองเดิ่น” ณ ปัจจุบันเหลือเพียง 6 ครัวเรือนที่ผลิตและล้วนแล้วแต่เป็นเกษตรกรต้มเกลือที่อยู่ในวัยเกษียณ เกลือบ้านหนองเดิ่นจะไม่วางขายข้างทาง เพราะจะถูกจองและซื้อขายกันหน้ายุ้ง ลูกค้าส่วนใหญ่จะนำไปหมักปลาร้า เพราะจะได้ปลาร้ารสชาติอร่อยกว่าเกลือที่อื่น การซื้อขายจึงอยู่ในวงจำกัดแบบชาวบ้านค้าขายกันเอง แม้ว่าเกลือบ้านหนองเดิ่นจะรสชาติดี แต่มีการปนเปื้อนสูง ทำให้สีไม่สม่ำเสมอ และยากแก่การนำไปขายในตลาดบน นอกจากนี้ การวัดค่าความเค็มของน้ำเกลือก่อนต้มอาศัยการชิมและประสบการณ์ของผู้ต้มเป็นหลัก จึงทำให้ยากแก่การถ่ายทอดและสร้างมาตรฐานการผลิต
“การปั้นหม้อแบบโบราณโดยการเดินรอบเสาบ้านแดง” ซึ่งเป็นจุดขายด้านภูมิปัญญาท้องถิ่นของบ้านแดง แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 1 ครัวเรือนที่ประกอบอาชีพนี้ และการผสมดินสำหรับปั้นหม้ออาศัยประสบการณ์ของผู้ปั้นเพียงอย่างเดียว ทำให้สุ่มเสี่ยงต่อการสูญหายขององค์ความรู้นี้ การมีเครื่องมือวิทยาศาสตร์มาช่วยในการคำนวณสัดส่วนเนื้อดินและแร่ธาตุในดินจึงน่าจะเป็นการการันตีคุณภาพการผลิตได้ในระดับหนึ่ง
“การผลิตข้าวฮางอินทรีย์บ้านปลาบู่” เป็นการคิดค้นการผลิตข้าวฮางแบบไม่แช่น้ำของวิสาหกิจชุมชนบ้านปลาบู่ เพื่อรักษาวิตามินและเกลือแร่ให้คงอยู่ในเมล็ดข้าวให้มากที่สุด ชาวบ้านนำไปรับประทานแล้วมีกำลังวังชาดีขึ้น และเชื่อว่าเหมาะแก่ผู้ป่วยระยะฟักฟื้นและคนชรา แต่ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวยังขาดการยืนยันข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะเรื่องคุณค่าโภชนะและสารพฤกษเคมี ซึ่งในอนาคตสามารถเป็นผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ต้นแบบในเชิงพาณิชย์ได้ คณะผู้วิจัยจึงเล็งเห็นความสำคัญของการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาช่วยพัฒนาคุณภาพสินค้าจากภูมิปัญญาท้องถิ่นเหล่านี้ เพราะนอกจากช่วยเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าเกษตร สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน คุณภาพชีวิตชุมชนดีขึ้น คนรุ่นใหม่หันมาสืบสานวิถีชีวิตชุมชนแล้ว และที่สำคัญยังเป็น “การต่อยอดสู่นวัตกรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงการสร้างเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม” ในอนาคตได้อีกด้วย
วัตถุประสงค์ของโครงการ
1.เพื่อพัฒนากระบวนการผลิตเกลือสินเธาว์ให้แก่เกษตรกรต้มเกลือบ้านหนองเดิ่น
2. เพื่อพัฒนาเทคนิคการคัดเลือกและผสมดินให้แก่เกษตรกรปั้นหม้อบ้านแดง
3. เพื่อพัฒนาเทคนิคการผลิตข้าวฮางให้แก่วิสาหกิจชุมชนบ้านปลาบู่
4. เพื่อพัฒนาเทคนิคการผลิตข้าวฮางให้แก่วิสาหกิจชุมชนบ้านปลาบู่
5. เพื่อเกิดการต่อยอดสู่นวัตกรรมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมถึงการสร้างเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมด้วยวิทยาศาสตร์
ผลผลิต และผลลัพธ์ของโครงการ
ผลผลิต
1. ได้กระบวนการผลิตเกลือสินเธาว์ที่มีคุณภาพ
2. ได้เทคโนโลยีการผลิตเครื่องมือตรวจวิเคราะห์ความเค็มที่เหมาะแก่การใช้งานของเกษตรกร
3. ได้กระบวนการคัดเลือกและผสมดินที่เหมาะสมแก่การปั้นหม้อ
4. ได้กระบวนการผลิตข้าวฮางที่มีคุณภาพ
ผลลัพธ์
1. เกิดการอนุรักษ์วิถีชีวิต วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
2. เกิดการขยายตลาดสินค้าภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่ตลาดบน
3. เกิดการต่อยอดสู่นวัตกรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงการสร้างเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
ตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการ
เชิงปริมาณ
1.ได้เกลือสินเธาว์ หม้อดินเผา และข้าวฮางที่มีคุณภาพ
2. ได้เทคโนโลยีการผลิตเครื่องมือตรวจวิเคราะห์ความเค็ม
เชิงคุณภาพ
1.สินค้าจากภูมิปัญญาท้องถิ่นขายได้ในตลาดที่มีคุณภาพขึ้น
2.ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นและความเป็นอยู่ดีขึ้น
3.คนรุ่นใหม่ในชุมชนใส่ใจกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นมากขึ้น
ความเชื่อมโยงกับห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain)
สินค้าที่ผลิตขึ้นจากภูมิปัญญาท้องถิ่นล้วนแล้วแต่เกิดจากการตกผลึกองค์ความรู้ของบรรพบุรุษเป็นเวลานาน รังสรรค์ขึ้นมาจนกระทั่งได้เป็นผลิตภัณฑ์ประจำถิ่นที่มีเอกลักษณ์น่าหวงแหนและควรค่าแก่การอนุรักษ์สืบต่อไป และหากผนวกองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในปัจจุบันเข้าไปส่งเสริมคุณภาพการผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานยิ่งขึ้น รวมถึงการสร้างเวทีความเข้าใจระหว่างชุมชนและโครงการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และการเปิดตลาดดิจิตอล ก็จะยิ่งนำพาสู่การพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืนและเข้มแข็งต่อไป
More Detail : https://stc.msu.ac.th/wapipathum/